ประวัติสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ

4,846 Views

                 

1.1 ประวัติความเป็นมา

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เป็นหน่วยงานที่ให้บริการสนับสนุนการเรียนการสอน การศึกษาค้นคว้าให้กับนักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และบุคคลทั่วไป และเป็นศูนย์รวมทรัพยากรสารสนเทศทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน    การค้นคว้าวิจัย เป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะวิชา โดยมีผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นผู้บริหาร และมีหัวหน้าสำนักงานและหัวหน้าศูนย์ต่างๆ เป็นผู้ดูแลการดำเนินงานในระดับสำนักงานหรือศูนย์ ซึ่งประกอบด้วย 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานผู้อำนวยการ               ศูนย์วิทยบริการ ศูนย์คอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา และศูนย์ภาษา โดยมีประวัติความเป็นมา ดังนี้

1.1.1 สำนักงานผู้อำนวยการ เป็นหน่วยงานกลางในการกำหนดนโยบายและการวางแผนยุทธศาสตร์ ในการบริหารจัดการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ การบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ การบริการวิชาการ การประกันคุณภาพการศึกษา และงานด้านอาคารสถานที่ เป็นหน่วยงานที่คอยกำกับดูแล และประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอก เพื่อให้การดำเนินงานตามภารกิจในสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศมีความคล่องตัว และเกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมสนับสนุน และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานในหน่วยงานต่างๆในสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ งานพัฒนาวางแผนกรอบอัตรากำลังและงานพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามรถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

1.1.2 ศูนย์วิทยบริการ ในอดีตศูนย์วิทยบริการเป็นห้องสมุด วิทยาลัยครูเลย เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2519 โดยใช้อาคารเรียน โรงเรียนเทศบาล 1 ศรีสะอาด อำเภอเมือง จังหวัดเลย และในปี พ.ศ.2520 ได้ย้ายหนังสือทั้งหมดไปให้บริการ ณ อาคาร 2 คณะครุศาสตร์ ชั้น 3

พ.ศ.2521 เปิดบริการ ณ หอสมุดกลาง เนื่องจากจำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการสร้างอาคารเป็นเอกเทศเพื่อให้บริการ

พ.ศ.2527 พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) ได้กำหนดให้ห้องสมุดมีฐานะเป็นฝ่ายหอสมุด สังกัดสำนักส่งเสริมวิชาการ

พ.ศ.2528 มีการใช้คอมพิวเตอร์ในงานห้องสมุดครั้งแรก จำนวน 1 เครื่อง

พ.ศ.2538 ฝ่ายหอสมุดเริ่มใช้คอมพิวเตอร์พัฒนาฐานข้อมูลหนังสือและดัชนีวารสาร โดยใช้โปรแกรม CDS/ISIS (Computerized Documentation System / Integrated Set of Information System) จัดการฐานข้อมูล

พ.ศ.2539 ฝ่ายหอสมุดได้ให้บริการสืบค้น OPAC (Online Public Access Catalog) ดัชนีวารสารและบรรณานุกรมหนังสือจากคอมพิวเตอร์ควบคู่กับการใช้บัตรรายการ

พ.ศ.2536 – 2537 วิทยาลัยครูเลยได้ก่อสร้างอาคารหอสมุดหลังใหม่เป็นอาคารเอกเทศ 4 ชั้น ตามแบบของกองอาคารสถานที่ กรมฝึกหัดครู ซึ่งได้เพิ่มพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น แล้วเสร็จปลายปี พ.ศ.2537 ใช้งบก่อสร้างทั้งสิ้น 24 ล้านบาท และค่าวัสดุครุภัณฑ์ประจำอาคารจำนวน 12 ล้านบาท เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2538 ได้ทำการขนย้ายหนังสือและวัสดุครุภัณฑ์ทุกอย่างไปให้บริการและดำเนินงานอยู่อาคารหลังใหม่ตั้งแต่มีนาคม พ.ศ.2538 ส่วนอาคารหอสมุดหลังเดิมเป็นที่ทำการของสำนักส่งเสริม

พ.ศ.2538 พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ.2538 (ฉบับร่าง) ได้เปลี่ยนฐานะวิทยาลัยครูเลย เป็นสถาบันราชภัฎเลย และได้กำหนดให้ฝ่ายหอสมุดเป็นสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และได้บริหารงานตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ (ฉบับร่าง) มาระยะหนึ่ง สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิทยบริการ และเพื่อการบริหารงานคล่องตัว สถาบันได้ปรับโครงสร้างการบริหารงานให้ศูนย์วิทยบริการอยู่ในสายงานรับผิดชอบของรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2542

พ.ศ.2542 ประกาศพระราชบัญญัติสภาสถาบันราชภัฏ พ.ศ.2538 ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ไม่ประสงค์ให้ส่วนราชการมีขนาดใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ได้กำหนดให้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีฐานะเป็นกลุ่มห้องสมุด กลับเข้าสู่สังกัดสำนักส่งเสริมวิชาการเช่นเดิม

พ.ศ.2544 ศูนย์วิทยบริการ ได้เริ่มใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ โดยใช้โปรแกรม VTLS (Virginia Tech Library System) เข้ามาจัดการฐานข้อมูลแทนโปรแกรม CDS/ISIS และได้พัฒนางานบริการยืม-คืน ที่ควบคุมด้วย Barcode และได้พัฒนาฐานข้อมูลบรรณานุกรมหนังสือ ให้สามารถสืบค้นหนังสือของศูนย์วิทยบริการผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้ศูนย์วิทยบริการสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจและบทบาทของศูนย์วิทยบริการ รับใช้มหาวิทยาลัย ชุมชนและท้องถิ่นได้ตามวัตถุประสงค์

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไป และได้เปลี่ยนชื่อจาก “สถาบันราชภัฏเลย” เป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย (Loei Rajabhat University)” และสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ขึ้นตรงต่อ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มีหน่วยงานในสังกัด 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์วิทยบริการ ศูนย์คอมพิวเตอร์ และศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

พ.ศ.2552 มหาวิทยาลัยได้ปรับโครงสร้างการบริหาร โดยศูนย์วิทยบริการอยู่ภายใต้สายการบริหารงานของรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และอยู่ภายใต้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศ

พ.ศ.2554 ศูนย์วิทยบริการ ได้ปรับเปลี่ยนโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS จาก เวอร์ชั่น Classic เป็นเวอร์ชั่น Virtua ที่สามารถรองรับกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

พ.ศ.2555 ศูนย์วิทยบริการ ได้ทดลองนำระบบการสืบค้นสารสนเทศใน ศูนย์วิทยบริการ Social OPAC มาให้บริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการมากยิ่งขึ้น

พ.ศ.2556 เริ่มใช้ระบบประตูอัตโนมัติสำหรับนับและจัดเก็บสถิติจำนวนผู้เข้าใช้บริการจำนวน 1 ช่องทาง และได้รับงบประมาณแผ่นดิน ปี 2556 ในการก่อสร้างอาคารศูนย์วิทยบริการหลังใหม่ เป็นอาคารเอกเทศ 4 ชั้น เพื่อเป็นการรองรับจำนวนนักศึกษา บุคลากร และทรัพยากรสารสนเทศที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการเพิ่มมากขึ้น

พ.ศ.2557 ศูนย์วิทยบริการได้รับมอบแท็ปเลต จากบริษัท ทีคิวเอ็มอินชัวรัน จำกัด เพื่อให้บริการอีบุ๊คแก่ นักศึกษาและบุคคลที่สนใจ

พ.ศ.2558 อาคารศูนย์วิทยบริการหลังใหม่ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ.2558 ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 149,680,000 บาท ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ได้ทำการขนย้ายหนังสือและวัสดุครุภัณฑ์ทุกอย่างไปให้บริการและดำเนินงานอาคารหลังใหม่ และได้นำระบบประตูเข้า-ออกห้องสมุดอัตโนมัติ จำนวน 4 ช่องทาง พร้อมประตูตรวจจับสัญญาณแม่เหล็กเพื่อป้องกันทรัพยากรศูนย์หาย จำนวน 2 ช่องทาง เพื่อรักษาความปลอดภัยภายในอาคาร ประตูเข้า-ออกห้องสมุดอัตโนมัติ สามารถเช็คจำนวนผู้เข้าใช้บริการได้อย่างละเอียด จัดซื้อด้วยงบประมาณแผ่นดิน ปี 2558 จำนวน 2,400,000 บาท ศูนย์วิทยบริการได้เข้าร่วมข่ายงานห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ISANLINET ซึ่งเริ่มก่อตั้งในวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

พ.ศ.2559 วันที่ 18 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2559 ศูนย์วิทยบริการได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ณ อาคารศูนย์วิทยบริการหลังใหม่ 4 ชั้น โดยมีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้น และจัดทำมุมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน และได้ปรับปรุงโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS จาก เวอร์ชั่น Virtua 2011 เป็นเวอร์ชั่น Virtua 2012

พ.ศ. 2560 ศูนย์วิทยบริการได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์ All in one จำนวน 15 เครื่อง ให้บริการในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ชั้น 4 อาคารศูนย์วิทยบริการ จัดทำป้ายหมวดหมู่หนังสือและป้ายประชาสัมพันธ์ภายในศูนย์วิทยบริการ ป้ายประชาสัมพันธ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตั้งบริเวณหน้าอาคารศูนย์วิทยบริการ มุมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

1.1.3 ศูนย์คอมพิวเตอร์ ศูนย์คอมพิวเตอร์ เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นในปีงบประมาณ 2539 เพื่อรับผิดชอบดำเนินการในโครงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารและจัดการศึกษา ทำหน้าที่หลักในการบริหารจัดการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย การให้บริการระบบคอมพิวเตอร์ และการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย

พ.ศ.2545 ศูนย์คอมพิวเตอร์จากเดิมตั้งอยู่บริเวณชั้น 4 อาคารศูนย์วิทยบริการ และได้ย้ายมาที่อาคารศูนย์คอมพิวเตอร์และศูนย์ภาษาในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2545 โดยย้ายระบบควบคุมและระบบเครือข่ายมาอยู่ที่บริเวณชั้น 4 อาคารศูนย์คอมพิวเตอร์ เปิดให้ใช้บริการห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ เพื่อการเรียนการสอน 2 ห้อง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 105 และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 106 และห้องฝึกอบรม 1 ห้อง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 402

พ.ศ.2546 ศูนย์คอมพิวเตอร์ได้เชื่อมเครือข่ายหลักเพิ่มเติมจากศูนย์คอมพิวเตอร์ไปยังอาคารเรียนรวม อาคารวิชญาการ อาคารวิทยบริการ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้เพิ่ม Bandwidth วงจรสื่อสารระหว่างประเทศเป็น 512 Kbps

พ.ศ.2548 ศูนย์คอมพิวเตอร์ได้ขยายช่องทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมจากเดิม 2048 Kbps เป็น 8192 Kbps

พ.ศ.2549 ศูนย์คอมพิวเตอร์ได้ทำการเชื่อมต่อวงจรสัญญาณการสื่อสารกับบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ช่องสัญญาณการสื่อสาร 25 Mbps

พ.ศ.2550 ได้เพิ่มเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับใช้เพื่อการเรียนการสอน และการฝึกอบรม ห้องฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ชั้น 2 จำนวน 122 เครื่อง และห้อง IT Shopping Mall จำนวน 50 เครื่อง

พ.ศ.2551 ศูนย์คอมพิวเตอร์ได้เชื่อมต่อระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต Bandwidth 1 Gbps โดยเชื่อมต่อจาก Uninet และมีการก่อสร้างอาคารศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อให้มีศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ (Data Center)

พ.ศ.2552-2554 ศูนย์คอมพิวเตอร์ได้พัฒนาระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (LRU Mail) ขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนของนักศึกษา และบุคลากร

พ.ศ.2555 ศูนย์คอมพิวเตอร์ได้ดำเนินงานพัฒนางานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหลายด้าน ได้แก่

– พัฒนาระบบเครือข่ายแบบ eduroam (educational roaming) เป็นบริการเครือข่ายโรมมิ่งเพื่อการศึกษาและวิจัยสำหรับนักศึกษาและบุคลากรของสถาบันการศึกษาที่เป็นสมาชิกเครือข่าย eduroam เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขการใช้งานของสถาบันผู้ให้บริการเครือข่าย (Service Provider)

– มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยมอบหมายให้ศูนย์คอมพิวเตอร์และศูนย์ภาษา ดำเนินการทดสอบความรู้ความสามารถทั่วไปด้านภาษาอังกฤษ และด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ที่จะสำเร็จการศึกษาในแต่ละปีการศึกษา (LRU EXITEXAM) เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเลยให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพตามคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ที่มหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้

– มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยมอบหมายให้ศูนย์คอมพิวเตอร์ ดูแลระบบระบบบริหารจัดการ และระบบบริการการศึกษา ของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการจัดซื้อระบบดังกล่าวมาจากบริษัทวิชั่นเน็ต

– พัฒนาระบบถ่ายรูปทำบัตรนักศึกษา และระบบถ่ายรูปทำบัตรบุคลากร

พ.ศ.2556 ศูนย์คอมพิวเตอร์ ได้พัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยเพิ่มเส้นทางระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็น 3 เส้นทาง คือ เลย-อุดรธานี จำนวน 2 เส้นทาง และเลย-เพชรบูรณ์ จำนวน 1 เส้นทาง ทั้งหมดรองรับการเชื่อมต่อความเร็ว 10 GB

พ.ศ.2557 ศูนย์คอมพิวเตอร์ ได้ดำเนินงานพัฒนางานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนี้

– ปรับปรุงระบบเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จังหวัดขอนแก่น จากการใช้ช่องทางสื่อสารของ TOT มาใช้ช่องทางสื่อสารโดยเชื่อมต่อจาก Uninet เพื่อลดค่าใช้จ่ายและรองรับการบริการในด้านต่างๆ

– จัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 90 เครื่อง โดยจัดสรรไปยังคณะครุศาสตร์ (อาคาร 23) ทั้งหมดจำนวน 90 เครื่อง

พ.ศ.2558 ศูนย์คอมพิวเตอร์ ได้รับรางวัล IPv6 Ready Pioneer Award ตามแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามแผนการดำเนินงาน IPv6 ในประเทศไทย (พ.ศ.2556-2558) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งระบุให้โครงข่าย UniNet มีบริการเชื่อมต่อ IPv6 กับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ภายในเดือนธันวาคม 2558 โดย UniNet ได้ร่วมกับกลุ่มวิจัยเครือข่ายฯ ประกาศเชิญชวนให้มหาวิทยาลัยให้ร่วมพัฒนาศักยภาพการให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตพื้นฐานที่รองรับ IPv6 อย่างน้อย 3 ระบบ ได้แก่ DSN, Mail และ Web ซึ่ง คณะกรรมการพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาวิจัยด้าน Future Internet ของ UniNet โดยศูนย์คอมพิวเตอร์ได้ดำเนินการพัฒนาระบบ IPv6 และได้รับการประเมินและพิจารณาสถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมในการให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตพื้นฐานที่รองรับ IPv6 ทั้งสิ้น15 แห่ง โดยรางวัล IPv6 Ready Pioneer Award (รางวัลผู้บุกเบิก) จำนวน 5 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรางวัล IPv6 Ready Rookie Award (รางวัลสำหรับผู้เชื่อมต่อรายใหม่) จำนวน 10 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ทั้งนี้ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ร่วมให้เกียรติมอบรางวัลกับสถาบันการศึกษาข้างต้น ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2558

ศูนย์คอมพิวเตอร์ได้จัดชื่อครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 82 เครื่อง โดยจัดสรรไปยังคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 41 เครื่อง

พ.ศ.2559 ศูนย์คอมพิวเตอร์ ได้ดำเนินงานพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่

– จัดชื้อครุภัณฑ์เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 82 เครื่อง โดยจัดสรรไปยังคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จำนวน 41 เครื่อง

– จัดชื้อและปรับปรุงห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ เป็นประจำทุกปี ทั้งในส่วนของห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จังหวัดขอนแก่น

– ติดตั้งและดูแลระบบ CCTV เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ทรัพย์สิน ทางราชการ และนักศึกษา บุคลากร

– ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ Thailand IPv6 Ready Award จาก กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ในงาน IPv6 ประจำปี 2559 โดยมี ดร.วิชัย พัวรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัย รับมอบรางวัล ในวันที่ 23 กันยายน 2559 ณ ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงหลักสี่ เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ

– พัฒนาระบบถ่ายรูปทำบัตรนักศึกษาแบบ RFID เพื่อใช้กับระบบประตูเข้า-ออก อัตโนมัติของห้องห้องสมุด และระบบงานอื่นๆที่ใช้ RFID ในงานอนาคต

พ.ศ.2560 ศูนย์คอมพิวเตอร์ ได้ดำเนินการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย ดังนี้

– ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ประจำอาคารศูนย์คอมพิวเตอร์ จำนวน 9 ห้อง เพื่อให้บริการแก่นักศึกษา

– จัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน จำนวน 41 เครื่อง

– พัฒนาระบบตู้อัตโนมัติ (Kiosk) เพื่อจัดพิมพ์เอกสารอัตโนมัติ

– ระบบเครือข่ายไร้สาย (LRU WIFI) ที่กระจายไปยังอาคารเรียน หอพัก และบริเวณโดยรอบ จำนวน 206 จุด รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ ไร้สายไม่ต่ำกว่า 20,000 เครื่อง

– ขยายระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไปยังซำไก่เขี่ย

– ติดตั้งระบบเครือข่ายในสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ

– เพิ่มช่องทางการเชื่อมต่อกับ Uninet จากเดิมความเร็ว 1Gbps ขยายเป็น 3Gbps 3 ช่องทาง โดยแยกบริการเป็น IPv4 ขนาด 1Gbps จำนวนหนึ่งช่องทาง, IPv6 ขนาด 1Gbps จำนวนหนึ่งช่องทาง และ L2 VPN ขนาด 1Gbps จำนวนหนึ่งช่องทาง

1.1.4 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ได้ก่อตั้งขึ้นในปีงบประมาณ 2542 เปิดทำการวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2542 เพื่อให้คณาจารย์ได้ใช้บริการผลิตสื่อการเรียนการสอน และซ่อมบำรุงสื่อการเรียนการสอน ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาได้เกิดขึ้นจากนโยบายของรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการที่เล็งเห็นความสำคัญของการผลิตสื่อและการใช้สื่อการเรียนการสอนของอาจารย์ผู้สอนภายในสถาบันราชภัฏเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่จัดให้มีขึ้นในสถาบันราชภัฏ (ในขณะนั้น) สายงานบริหารขึ้นตรงต่อรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ งานในระยะแรกเป็นงานเกี่ยวกับการผลิตแผ่นโปร่งใส และงานออกแบบสิ่งพิมพ์ให้กับอาจารย์ผู้สอน ต่อมาได้มีการยืมอุปกรณ์ผลิตสื่อจากโปรแกรมวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา และศูนย์วิทยบริการ จึงทำให้มีขีดความสามารถในการให้บริการเพิ่มมากขึ้น ต่อมาได้มีการยุบรวมงานโสตทัศนศึกษาของสถาบันมาขึ้นตรงต่อศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ดังนั้นจึงทำให้ภาระงานของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาเพิ่มขึ้น คือ การให้บริการวัสดุ อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ในห้องประชุมสัมมนา

พ.ศ.2552 มหาวิทยาลัยได้ปรับโครงสร้างการบริหาร โดยศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาอยู่ภายใต้สายการบริหารงานของรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและอยู่ภายใต้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีงานบริการเพิ่มขึ้นคือ ห้องสตูดิโอ ให้บริการถ่ายภาพบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ห้องบันทึกเสียงสำหรับผลิตสื่อการเรียนการสอน และมีการจัดอบรมทางด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาให้แก่นักศึกษา อาจารย์ บุคลากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

พ.ศ.2553 – 2556 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ได้รับจัดสรรงบประมาณใน การจัดซื้อสื่อการเรียนการสอนเครื่องฉายมัลติมีเดียโปรเจคเตอร์ เครื่องขยายเสียงติดตั้งอาคารเรียนรวม ตึก 18, 19, 23 และอาคารอื่นฯ ภายในมหาวิทยาลัย

พ.ศ.2557 – 2558 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ได้รับจัดสรรงบประมาณใน การจัดซื้อสื่อการเรียนการสอนเครื่องฉายมัลติมีเดียโปรเจคเตอร์ เครื่องขยายเสียงติดตั้งอาคารเรียนศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จังหวัดขอนแก่น

พ.ศ. 2558 – 2559 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ได้รับจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อสื่อการเรียนการสอน เครื่องฉายมัลติมีเดียโปรเจคเตอร์ และเครื่องขยายเสียง ติดตั้งอาคารเรียนศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จังหวัดขอนแก่น (อาคาร CL02)

พ.ศ. 2559 – 2560 ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ได้รับจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงเครื่องขยายเสียงห้องประชุมชั้น 2 อาคารเรียนรวม 18 และหอประชุมขุมทองวิไล รวมทั้งจุดบริการเครื่องเสียงที่บริเวณพระพุทธยาน ปรับปรุงห้องบันทึกเสียงสำหรับผลิตสื่อการเรียนการสอน ที่ชั้น 4 อาคาร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ และจัดซื้อเครื่องฉายมัลติมีเดียโปรเจคเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว เพิ่มเติมเพื่อรองรับสื่อการเรียนการสอนที่เสื่อมสภาพ ตลอดทั้งมีโครงการอบรมด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาให้แก่ อาจารย์ นักศึกษา บุคลากรเป็นประจำทุกปี ได้พัฒนานักศึกษาเพื่อส่งคลิปวิดีโอ “ศาสตร์พระราชา” เข้าประกวด จัดโดยวัฒนธรรมจังหวัดเลย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 และพัฒนาหลักสูตรการอบรมครูประจำการจังหวัดเลย โดยบูรณาการจากความรู้และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระยะเวลา 2 เดือน มีครูเข้าร่วมอบรม 900 คน และผลงานจากการพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์จึงได้รับคัดเลือกจาก มหาวิทยาลัยไทยไซเบอร์ (TCU) สกอ. ให้ร่วมผลิตรายวิชา “คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ” ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในระบบของ ThaiMooc (www.thaimooc.org)

1.1.5 ศูนย์ภาษา ได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 เดิมใช้สถานที่ร่วมกับภาควิชาภาษาต่างประเทศ ซึ่งต่อมาคือ โปรแกรมภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานเป็นของตนเองและความจำเป็นที่ต้องใช้บุคลากรร่วมกับโปรแกรมภาษาอังกฤษ ต่อมาสถาบันราชภัฏเลยได้รับงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ซึ่งใช้เป็นอาคารรวมของศูนย์คอมพิวเตอร์และศูนย์ภาษา การก่อสร้างอาคารเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2545 ศูนย์ภาษาจึงได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2545 เป็นหน่วยงานหนึ่งของสถาบันขึ้นตรงกับรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีและวิทยบริการ โดยแบ่งส่วนงานรับผิดชอบภายในศูนย์ออกเป็น 5 ส่วนงาน ดังนี้ งานบริหารและวางแผน งานวิชาการและบริการศึกษา งานพัฒนาเกณฑ์การศึกษา งานวิเทศสัมพันธ์ และงานเลขานุการและประชาสัมพันธ์

พ.ศ.2546 – 2547 มหาวิทยาลัยได้มีนโยบายให้ปรับโครงสร้างการบริหารศูนย์ภาษาใหม่ โดยให้ขึ้นตรงกับรองอธิการบดีฝ่ายวัฒนธรรมและแบ่งสายงานภายในศูนย์ภาษาเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายวิชาการ

พ.ศ.2549 มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเพื่อการพัฒนาภาษาอังกฤษให้แก่สถาบันอุดมศึกษากับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2549 ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ Server พร้อม Software License Windows Server จำนวน 1 เครื่อง และโปรแกรมคอมพิวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ ELLIS (สื่อการสอนภาษาอังกฤษ) จำนวน 40 License เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษา และบุคลากร ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไป ปัจจุบันโปรแกรมคอมพิวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ ELLIS (สื่อการสอนภาษาอังกฤษ) ติดตั้งอยู่ที่ห้องปฏิบัติการทางภาษา 302 ชั้น 3 อาคาร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ (ศูนย์คอมพิวเตอร์และศูนย์ภาษา)

พ.ศ.2551 มหาวิทยาลัยได้ปรับโครงสร้างใหม่ตามการเปลี่ยนแปลงจากสถาบันราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยให้ขึ้นตรงกับรองอธิการบดีฝ่ายมาตรฐานการศึกษา แบ่งเป็น 3 ฝ่าย ดังนี้ ฝ่ายบริหารและวิชาการ ฝ่ายบริการและประชาสัมพันธ์ และฝ่ายเลขานุการ

พ.ศ.2552 มหาวิทยาลัยได้ปรับโครงสร้างการบริหาร โดยสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่ภายใต้สายการบริหารงานของรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมีผู้บริหาร คือ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีรองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้บริหาร 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์วิทยบริการ ศูนย์คอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาและศูนย์ภาษา โดยศูนย์ภาษาได้ปรับโครงสร้างใหม่ให้ขึ้นตรงกับรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และอยู่ในภายใต้สำนักวิทบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ แบ่งเป็น 3 ฝ่าย 1 งาน ประกอบด้วยฝ่ายพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรม ฝ่ายบริการและปฏิบัติการ ฝ่ายธุรการและเลขานุการ และงานวิเทศสัมพันธ์

พ.ศ.2553 มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้ศูนย์ภาษาดำเนินการโครงการพัฒนานักศึกษาสู่สากล เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ และเรียนรู้วัฒนธรรม จำนวน 5 ประเทศ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐไต้หวัน สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธาณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐอินเดีย

พ.ศ.2557 ได้มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในส่วนของงานวิเทศสัมพันธ์ เพื่อให้มีความคล่องตัว สะดวกรวดเร็วในการบริหารและปฏิบัติงานงานวิเทศสัมพันธ์ จึงได้มอบหมายให้ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ ดูแลงานวิเทศสัมพันธ์

พ.ศ.2558 ได้มีการย้ายสำนักงานและเปิดทำการที่ชั้น 2 ห้องเรียนเรียนภาษา 204 เพื่อปรับปรุงสำนักงานชั้น 5

พ.ศ.2559 ได้เปิดทำการที่ชั้น 5 อาคาร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ศูนย์ภาษามีห้องเรียนภาษาอยู่ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 โดยชั้นที่ 2 แบ่งเป็นห้องเรียนภาษา 201, ห้องเรียนเรียนภาษาญี่ปุ่น 205 และชั้นที่ 3 ห้องปฏิบัติการทางภาษา 301 และ 302, ห้องเรียนภาษา 303, 304, 305, 306 รวมมีห้องเรียนภาษา 6 ห้อง และห้องปฏิบัติการทางภาษา 2 ห้อง

พ.ศ.2560 ได้จัดสอบภาษาอังกฤษ Exit-Exam โดยใช้ข้อสอบของ Cambridge English Placement Test การจัดสอบ TOEIC สำหรับนักศึกษาและบุคลากร และโครงการพัฒนาภาษาต่างประเทศ ภาษาอาเซียน และได้ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และวัฒนธรรมทางด้านภาษาในต่างประเทศ จำนวน 5 ประเทศ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐไต้หวัน สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศเกาหลีใต้ สำหรับอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา รวมทั้งการอบรมและทดสอบความรู้ความสามารถทั่วไปทางด้านภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และนักศึกษาที่จะจบปีการศึกษา

 

Share to...